วันศุกร์ที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

ดาร์ลิงโทเนีย (Darlingtonia) หรือ ลิลลี่งูเห่า

ดาร์ลิงโทเนีย (Darlingtonia) หรือชื่อทั่วไป ที่คนระดับชาวบ้านเรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า Cobra Lilly แปลว่าลิลลี่งูเห่า

ลิลลี่งูเห่าเป็นพืชกินแมลง กลุ่มเดียวกับซาราซีเนียและ Heliamphora มีชื่อเสียงในแง่ของความแปลกประหลาด น่าพิศวงและสวยงามเป็นอย่างยิ่ง แต่ขณะเดียวกันก็มีชื่อด้านตรงข้ามในแง่ของความบอบบางจนกล่าวกันว่า ลิลลี่งูเห่าเป็นพืชกินแมลงที่เลี้ยงยากที่สุดในโลก แม้แต่ในถิ่นที่ลิลลี่งูเห่ากำเนิดเป็นดงใหญ่ ชาวบ้านในละแวกนั้น ขุดมาใส่กระถางก็ยังตาย

จนถือกันเป็นมาตรฐานในกลุ่มผู้รักพืชกินแมลงว่า ใครที่เลี้ยงลิลลี่งูเห่าสำเร็จ แข็งแรง งดงามดี จะได้รับการยกย่องว่าเป็นเซียน เพราะมีคนไม่กี่คนในโลกนี้ ที่สามารถเลี้ยงลิลลี่งูเห่าไว้ในกระถางได้

ดาร์ลิงโทเนีย มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Darlingtonia californica ค้นพบครั้งแรกในปี ค.ศ. 1841 โดยผู้ช่วยนักพฤกษศาสตร์นาม J.D. Brackenridge ในหนองน้ำแฉะทางตอนเหนือของรัฐ californica ซึ่งมีภูมิอากาศคล้ายคลึงกับประเทศไทย

ดาร์ลิงโทเนียเป็นพืชล้มลุกไม่มีเนื้อไม้ อายุหลายปี มีต้นฝังอยู่ใต้ดินเรียกว่าเหง้า รากแตกเป็นฝอยเล็กๆ ไม่มีรากแก้ว ใบของมันจะแทงขึ้นพ้นพื้นดินลักษณะเป็นกอ เช่นเดียวกับซาราซีเนีย แต่ความแตกต่างที่เห็นชัดคือว่า กรวยที่ยกขึ้นเป็นหลอดด้านหนึ่งจะโค้งงอเป็นรูปโดม จนไปชนปลายกรวยอีกด้านหนึ่งเหลือไว้เพียงรูเล็กๆ พอให้แมลงมุดขึ้นไปได้ ฝากรวยแปลงรูปไปเป็นแผ่นคล้ายลิ้นงู 2 แฉก แล้วกรวยของมันยังบิดตัวหมุนกลับ 180 องศา ทำให้ลิ้น 2 แฉกหมุนกลับมาอยู่นอกกอ ยอดโดมเป็นเนื้อเยื่อใสคล้ายพลาสติก แสงลอดผ่านได้

สภาพในธรรมชาติ
ดาร์ลิงโทเนียในธรรมชาติ จะมีความสูงประมาณเข่า และที่ยอดโดมมีสีเหลืองทอง ส่วนกรวยด้านล่างเป็นสีเขียวเข้ม ลิ้นเป็นสีแดง แต่ถ้าอยู่ในที่ร่ม ดาร์ลิงโทเนียจะเป็นสีเขียวเข้มทั้งต้นและอาจสูงท่วมเอว

พบดาร์ลิงโทเนียเพียงที่เดียวในโลกคือตอนเหนือของรัฐแคลิฟอร์เนียเลยไปถึงตอนใต้ของโอเรกอน จึงนิยมเรียกมันว่าเจ้างูเห่าแคลิฟอร์เนีย(California Cobra plants) มันชอบขึ้นรวมกันเป็นกระจุกใหญ่และกระจายตัว เป็นบริเวณกว้างตามเนินเขาที่ค่อนข้างลาดเอียงและมีน้ำที่ละลายจากหิมะไหลซึมในชั้นดินเสมอ ดังนั้นรากของมันจึงเคยชินอยู่กับน้ำที่เย็นจัดและไหลรินตลอดเวลา ถ้าเราขุดดาร์ลิงโทเนียไปใส่ในกระถางมันจะตายในที่สุด

หากคุณได้ไปยังหุบเขาชาสตา ในแคลิฟอร์เนียในฤดูใบไม้ผลิ คุณจะต้องตื่นตากับภาพ ดาร์ลิงโทเนียนับหมื่น นับแสนต้น ขึ้นเต็มหุบเขา มองเห็นเป็นสีทองอร่ามยามเย็น เป็นภาพที่ประทับใจไม่รู้ลืม ปัจจุบันรัฐแคลิฟอร์เนีย กำหนดให้บริเวณดังกล่าวเป็นเขตวนอุทยาน นับเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงแห่งหนึ่งของโลก

จากการสำรวจพบว่า ดาร์ลิงโทเนียเจริญเติบโต ในดินที่ไม่มีแร่ธาตุแต่มีความเป็นกรดค่อนข้างสูงเช่นเดียวกับไม้กินแมลงส่วนใหญ่ เราพบ ดาร์ลิงโทเนียได้ตั้งแต่ระดับน้ำทะเลจนถึง 2500 เมตร มันชอบแสงแดดจัด แต่ถ้าแสงน้อยมันจะโตได้ดีกว่าแต่ไม่มีสีเหลืองทอง


ด้วยความสวยงามอย่างน่าแปลกประหลาดของเจ้าพืชกินแมลงตัวนี้ ทำให้มีผู้รักธรรมชาติจำนวนมาก หลงใหลเสน่ห์ของมันถึงขนาดไปตั้งเต็นท์กินนอนอยู่ในหุบเขางูเห่าเป็นเวลานานๆ รวมไปถึงหญิงผู้หนึ่งนามว่า รีเบคกา ออสติน ผู้ซึ่งรัก ดาร์ลิงโทเนียถึงขนาดพาลูกสาวและสามีไปกินนอนอยู่ที่นั้น

รีเบคกาไม่เพียงชื่นชมความงามของลิลลี่งูเห่า เธอยังเป็นมนุษย์คนแรกที่ศึกษา บันทึก ทำรายงาน และเก็บรายละเอียดเกี่ยวกับ ดาร์ลิงโทเนียในทุกแง่มุม เช่น เธอเป็นคนแรกที่สักเกตพบว่าน้ำฝนที่ตกลงมาในธรรมชาติ ไม่สามารถไหลเข้าไปในกรวยของ ดาร์ลิงโทเนียได้ และเธอยังได้ทำการติดต่อขอความเห็นทางวิชาการจากนักพฤษศาสตร์ที่มีชื่อเสียง จนสามารถรวบรวมเป็นหนังสือวิชาการเกี่ยวกับ ดาร์ลิงโทเนียเล่มแรกของโลก ซึ่งก่อประโยชน์กับคนรุ่นหลังอย่างยิ่ง

แต่ถึงกระนั้นก็ยังไม่มีผู้ใดสามารถปราบเจ้าดาร์ลิงโทเนีย "มังกรแห่งท้องทุ่ง" ให้อยู่หมัดได้

เทคนิคการจับแมลง
โดยหลักการทั่วไปก็คล้ายกับพืชกินแมลงอื่นๆคือ ใช้กลิ่นหอมของน้ำหวาน ที่มันผลิตขึ้นบริเวณปากทางเข้า เป็นตัวหลอกล่อให้แมลงเดินเข้าไปยังกับดักและตกลงไปตายในที่สุด แต่เจ้าลิลลี่งูเห่าทำได้แยบยลกว่านั้น น้ำหวานที่มันผลิตจะหลอกล่อให้แมลงเดินเข้าไปในรูเปิดเล็กๆ บริเวณลิ้นงูเห่า ซึ่งผนังภายในมีน้ำหวานจำนวนมาก แมลงอาจลังเลที่จะมุดตัวเข้าไปในกรวยที่เต็มไปด้วยน้ำย่อย แต่เมื่อมันมองเข้าไปด้านใน มันจะเห็นแสงสว่างส่องมาจากด้านบนของโดม ซึ่งใสคล้ายพลาสติกทำให้มันหลงกลคิดว่าด้านบนคือท้องฟ้า หากเกินเหตุอันตรายมันก็สามาถบินหลบหนีขึ้นไปได้ทันที แมลงเคราะห์ร้ายจึงชะล่าใจมุดเข้าไปกินน้ำหวานลึกเข้าไปในกรวยที่มีขนละเอียดและแหลมคม หันไปทิศทางเดียวกันทำให้แมลงไม่สามารถเดินย้อนกลับได้

เมื่อลมชายทุ่งพัดมา ดาร์ลิงโทเนียเอนไหว แมลงซึ่งอยู่ภายในตกใจ บินขึ้นเบื้อนบนทันที มีผลทำให้ทำกระแทกเข้ากับยอดโดมที่ใสคล้ายท้องฟ้าโดยไม่ทันระวังตัว เจ้าแมลงเคราะห์ร้ายหล่นร่วงลงสู่น้ำย่อยในกรวยเบื้องล่าง ซึ่งทำหน้าที่ย่อยเหยื่อที่มันจับได้ด้วยความกระหาย

งั่ม...งั่ม... อาหย่อย...ดี!

สายพันธุ์
เดิมลิลลี่งูเห่ามีเพียงสายพันธุ์เดียวคือ Darlingtonia californica มันเป็นพืชที่โตช้า หลังจากที่เมล็ดตกลงพื้น 2 ปี จึงจะเริ่มโตเป็นต้นเล็กๆ และอีกหลายปีจึงจะเริ่มออกดอกและจะโตเต็มที่จะต้องใช้เวลาถึง 7-8 ปี

แต่เมื่อไม่กี่ปีมานี้ นักปรับปรุงสายพันธุ์พืชของเนอเซอรี Meyers-Rice สามารถผลิตลิลลี่งูเห่าชนิดใหม่ที่แปลกประหลาดได้ในปี ค.ศ. 1997 คือทำให้เนื่อเยื่อของมันไม่มีการสร้างเม็ดสีจำพวก Anthocyanins (ซึ่งเป็นเม็ดสีที่ทำให้พืชมีสีแดงถึงฟ้า)

ดังนั้นเมื่อสายพันธุ์ใหม่นี้ไม่มี Anthocyanins มันจึงให้สีเหลืองทองบริสุทธิ์ กรวยมีตั้งแต่เขียวบริสุทธิ์ถึงเหลืองบริสุทธิ์

สายพันธุ์ย่อยที่มนุษย์สร้างขึ้น (Cultivar) ผู้ผลิตตั้งชื่อมันว่า Darlingtonia californica “Othello” และได้จดทะเบียนไว้กับสมาคมไม้กินแมลง ICPS ในปี ค.ศ. 1998 หรือเมื่อ 7 ปี ที่แล้วนี้เอง

มหัศจรรย์งูเห่า
ในช่วงที่สำรวจธรรมชาติของเจ้างูเห่า รีเบคกา ออสติน เธอยังค้นพบอีกว่าเจ้างูเห่ามีความพิสดารลึกซึ้งกว่าไม้ทั่วไปคือ มันทำตัวเป็นเข็มทิศธรรมชาติที่เที่ยงตรงอย่างยิ่ง ใบของเจ้างูเห่าจะออกเป็นคู่ทั้ง 2 ใบ ทิศทางตรงข้ามกัน รวมทั้งสิ้นประมาณ 10-18 ใบ /1 กอ ในแต่ละปี

รีเบคกาสังเกตเห็นว่า ใบใหม่ที่มีขนาดใหญ่จะผลิตออกมาในฤดูใบไม้ผลิ 2 ใบแรก เป็นใบสูงที่สุดและหันใบไปทางทิศตะวันออกหนึ่งใบ ตะวันตกหนึ่งใบเสมอ ส่วนใบคู่ที่สองจะหันไปทางทิศเหนือหนึ่งใบ ทิศใต้หนึ่งใบ เป็นเช่นนี้เรื่อยไป จนสามารถใช้ต้นดาร์ลิงโทเนียบอกทิศได้เช่นเดียวกับเข็มทิศ

ในปี ค.ศ. 2002 Schnell ทำการศึกษาเรื่องเจ้างูเห่าบอกทิศตามรายงานของ รีเบคกา ออสติน โดยปลูกดาร์ลิงโทเนียไว้ในกระถาง พบว่า ดาร์ลิงโทเนียที่ปลูกในกระถางก็ยังคงหันทิศตรงตามเข็มทิศทุกประการ ผู้วิจัยแกล้งจับกระถางหมุน มันก็ยังออกใบใหม่ชี้ทิศทางได้ถูกต้อง นับเป็นสิ่งที่น่าอัศจรรย์ยิ่ง

ข้อแนะนำการปลูกเลี้ยงดาร์ลิงโทเนีย

การปลูกดาร์ลิงโทเนีย ถือหลักตรงข้ามกับ ซาราซีเนียและกาบหอยแครง เพราะซาราซีเนียและกาบหอยแครงนั้น ยุ่งมากตาย ทิ้งไว้รอด

แต่สำหรับดาร์ลิงโทเนีย หากไม่ยุ่งกับมัน มันตายแน่นอน และการดูแลมาก โอกาสรอดสูง เพราะมันเป็นพืชที่ต้องการการเอาใจใส่เป็นพิเศษ ซึ่งหากคุณทำให้มันพอใจ เจ้างูเห่าที่ปลูกในกระถางอาจงามเติบโตได้ถึง 1 เมตร และให้หัวขนาดเท่ากำปั้น

ดาร์ลิงโทเนีย เคยชินกับเครื่องปลูกที่ไม่มีแร่ธาตุ น้ำที่ไม่มีเกลือแร่ อากาศค่อนข้างเย็นสบาย แดดจัด ความชื้นสูงมาก และส่วนรากจมในเครื่องปลูกชุ่ม และมีน้ำเย็นไหลผ่านตลอดเวลา คุณจึงควรจัดหาสภาพแวดล้อมที่ใกล้เคียงกับธรรมชาติของมัน

เครื่องปลูก
นิยมกันหลายแบบ เช่นสแฟกนั่มมอส 60 % พีทมอส 10 % เพอร์ไลท์ 30 % คลุกเข้าด้วยกัน เพอร์ไลท์ช่วยให้ดินเป็นกรด ไม่ต้องผสมปุ๋ยในดิน

บางสูตรแนะนำว่าหลักการใช้เครื่องปลูกที่สำคัญคือต้องให้อากาศผ่านได้ดีและโปร่ง พบว่าดาร์ลิงโทเนียจำนวนมากตายในเครื่องปลูกที่ใช้ พีทมอส 50 % เพอร์ไลท์ 50 % เพราะสัดส่วนขนาดนี้ทำให้ความร้อนกักขังอยู่ในดินและชื้นเกินไป ดังนั้นถ้าคุณจะใช้ส่วนผสมนี้ควรปรับเป็น พีทมอส 30 % เพอร์ไลท์ 70 %

Cook Carnivorous แนะนำให้ใช้สแฟกนั่มมอสที่ยังมีชีวิตเท่านั้น จึงจะมีทางรอด สำหรับนีโอฟาร์ม ทดลองหลายสูตร และพบว่าใช้สแฟกนั่มมอสที่ยังมีชีวิตจะได้ผลดีที่สุด และอาจแช่จมน้ำเกือบถึงโคนต้นก็ได้ เพราะตามธรรมชาติมันอยู่ในระดับน้ำขนาดนั้น

กระถาง
ห้ามใช้กระถางดินเผา เพราะมันมักดูเกลือแร่ไว้ในรูพรุน ทำให้ดินเค็มมากขึ้นตามเวลา ควรใช้แต่กระถางพลาสติกเท่านั้น

เลือกกระถางให้เหมาะกับขนาดต้น โดยใช้กระถางทรงสูงแบบมาตรฐาน ดาร์ลิงโทเนีย ไม่ชอบให้รบกวนระบบรากโดยเด็ดขาด ปลูกแล้วปลูกเลย ห้ามรื้อ

การรดน้ำ
ดาร์ลิงโทเนียเป็นพืชไม่ทนร้อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเหง้าและรากจะต้องแช่ในน้ำเย็นอุณหภูมิไม่เกิน 20 องศาเซลเซียส น้ำต้องไหลเรื่อยๆ ห้ามน้ำขังเด็ดขาด ส่วนต้นอาจทนอุณหภูมิบ้านเราได้ แต่ก็ไม่ควรให้โดนแดดจัดตอนกลางวัน ดังนั้น หาทางลดอุณหภูมิในน้ำ เช่นบางคนเติมน้ำแข็งในจานรองช่วงเที่ยง บางคนแช่กระถางดาร์ลิงโทเนียในถาดพลาสติกขนาดกว้างมากๆ เติมน้ำให้สูงครึ่งกระถาง

น้ำที่ใช้หล่อกระถางดาร์ลิงโทเนีย ต้องเป็นน้ำที่บริสุทธิ์ปราศจากเกลือแร่โดยเด็ดขาด วิธีที่ง่ายที่สุดคือ ซื้อน้ำกรองจากตู้หยอดเหรียญที่ตั้งตามแหล่งชุมชนและใช้ระบบกรองที่เรียก Reverse osmosis ยกตัวอย่างเช่นน้ำยี่ห้อ Good Drink ลิตรละ 1 บาท ถ้าเอาขวด 5 ลิตรไปเต็มก็จะใช้เติมจานรองดาร์ลิงโทเนียได้นานนับเดือน แต่ถ้าคุณมั่นใจว่าน้ำที่บ้านเป็นน้ำอ่อน อาจลองใช้ดูก็ได้

สำหรับหน้าร้อนหากแสงแดดจัด ดาร์ลิงโทเนียอาจจะตายเพราะทนร้อนไม่ไหว ควรเก็บไว้ในที่ได้รับแสงปานกลาง คุณควรเติมน้ำจนถึงระดับโคนใบล่าง จำไว้ว่าในหน้าแล้ง ดาร์ลิงโทเนีย ต้องการน้ำสูงมากและต้องเป็นน้ำเย็นจัด ดาร์ลิงโทเนีย กินน้ำเร็วมาก หากน้ำมีเกลือแร่เพียงเล็กน้อย ไม่นานมันจะเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ จนดาร์ลิงโทเนียตาย การถ่ายน้ำในถาดบ่อยๆ ช่วยลดความเค็มจากเกลือสะสมได้ครับ ดังนั้นจึงควรเปลี่ยนน้ำโดยการไล่น้ำเก่าด้วยน้ำใหม่อย่างน้อยเดือนละครั้ง ยิ่งบ่อยยิ่งดี

แสง และความชื้น
ดาร์ลิงโทเนีย ชอบแสงปานกลาง ไม่จำเป็นต้องได้รับแสงโดยตรง ทำหลังคาโปร่งๆ กรองแสงประมาณ 50 % ก็เพียงพอ ถ้าแสงน้อย ดาร์ลิงโทเนียที่คุณเลี้ยงอาจมีสีเขียวเข้มและโตเร็ว ถ้าอยากให้เป็นสีทองก็เพิ่มแสง

แสงสัมพันธ์กับความชื้น ยิ่งได้แสงมาก ยิ่งต้องให้ชื้นมาก อาจทำตู้พลาสติกครอบ หรือถุงพลาสติกครอบบางส่วน เพื่อกักความชื้นไว้ ให้อยู่ในช่วง 70 – 90 % ตามความแรงแสงแดด

สรุป
ดาร์ลิงโทเนียไม่เหมาะกับมือใหม่ เพราะเลี้ยงยาก ต้องเอาใจใส่อย่างมาก แถมราคาแพงสุดๆ แต่เสน่ห์ของมันอยู่ที่การเลี้ยงยาก จึงเป็ไม้กินแมลงที่ท้าทายมือโปรอย่างยิ่ง

ที่มา : ดาร์ลิงโทเนีย (Darlingtonia)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Blog พันธมิตร